ท่ามกลางกระแสความต้องการรถยนต์ที่มีการปล่อยไอเสียต่ำลง และความเข้มงวดในเรื่องนี้ได้รับความใส่ใจตามโจทย์ภาวะลดโลกร้อน “เครื่องยนต์ดีเซล” กลายมาเป็นพระเอกขวัญบริษัทรถยนต์หลายเจ้า เมื่อกว่า 10 ปีก่อนหน้านี้สาวกดาวลูกไก่หลายคนอาจจะเคยได้ยินเรื่องราวเครื่องยนต์ดีเซลบ๊อกเซอร์ … แต่ก็ไม่ต่อยมีใครเจอตัวเป็นๆ สักที
Diesel Boxer เป็นเรื่องที่ปิดฉากจบลงไป หลังจากซูบารุออกมาประกาศทิศทางของบริษัท ว่าจะไม่กลับไปคบเครื่องยนต์ดีเซลอีก และหลังจากนั้นทางซูบารุ ก็เดินหน้าปั้นระบบเครื่องยนต์ไฮบริด หยิบยืมข้าวของจากพันธมิตรโตโยต้ามาประกาศศักดา
เครื่องยนต์ดีเซลซูบารุ ไม่เหมือนค่ายอื่น พวกเขาไม่ยอมที่จะเอาเครื่องยนต์สูบเรียงมาทำตลาด ซูบารุ มีคยามตั้งใจในการสร้างเครื่องยนต์สูบนอนดีเซล และแม้วันนี้จะไม่มีทางที่คุณจะได้ซื้อพวกมันอีกครั้ง แต่เราอยากจะเก็บเรื่องนี้มาเล่าให้ฟังเป็นความรู้รอบตัว …
ย้อนไปในปี 2007 เวลานั้น เครื่องยนต์ดีเซลกำลังเริ่มบูมในตลาดยุโรป รถยนต์หลายแบรนด์เริ่มพละเครื่องยนต์เบนซินมาสู่ขุมพลังอัดอากาศ ด้วยเหตุผลเรื่องการเผาไหม้สมบูรณ์ประกอบกับพละกำลังวังชาดีกว่า
เครื่องดีเซลบ๊อกเซอร์ได้รับการพัฒนาอย่างลับๆ ในรั้วซูบารุ มีเป้าหมายพิชิตใจคนยุโรปเป็นสำคัญ ทางค่ายดาวลูกไก่หวังว่าจะพอซื้อใจได้บ้าง
บ๊อกเซอร์ดีเซล รุ่นแรกของโลกเผยโฉมออกมาในงาน Geneva Motor Show ปี 2008 หรือกว่า 11 ปี ที่แล้ว เครื่องยนต์บล็อกนี้มีรหัสว่า “EE20” มันได้รับการพัฒนาจากเครื่องยนต์ 6 สูบนอน รหัส EZ30 ที่อยู่ในรถหลายรุ่นอาทิ Subaru Outback ในเวอร์ชั่นตลาดอเมริกา ทางแบรนด์ศึกษาความต้องการ และใช้เวลาเงียบอยู่กว่า 3 ปี
ซูบารุต้องการเครื่องยนตืที่มีประสิทธิภาพและยังใช้เวลาในการพัฒนารวดเร็ว การจับเครื่อง 6 สูบ มาหั่นให้เหลือ 4 สูบ แล้ว ปรับการทำงานให้เป็นเครื่องยนต์ดีเซล ตัวเครื่องทั้งฝาสูบและเสื้อสูบเป็นอลูมิเนียมทั้งหมด อาจจะกล่าวได้ว่า มันน่าจะเป็นเครื่องดีเซลแรกๆ ที่มาพร้อมเสื้อสูบอลูมิเนียม
ทางทีมวิศวกรปรับขนาดกระบอกสูบและช่วงชักให้มีความสมมาตร ด้วยห้องสูบสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีอัตรากระบอกสูบและช่วงชัก 86.0 X 86.0 มม. มีขนาดปริมาตรจริง 1,998 ซีซี ติดตั้งระบบเทอร์โบแปรผัน จาก IHI ทางด้านขวาของเครื่องติดกับชุดท่อไอเสีย เพื่อลดการรอรอบ
ส่วนชุดหัวฉีกเป็นระบบคอมมอนเรลจาก Denso มีกำลังแรงดันสูงถึง 180 เมกะปาสคาล ในห้องเผาไหม้มีกำลังอัดสูงถึง 16.3 : 1 มันตอบสนองในการขับขีดี จากทางทีมงานซูบารุ เรียกเครื่องยนต์ตั้งนี้ว่า “Sport Diesel” ตอนเปิดตัวในงาน Geneva motor Show 2008 ครั้งแรก มันปล่อยไอเสียต่ำเพียง 148 กรัม/กิโลเมตร ใน Subaru Legacy sedan
เครื่องยนต์ทำกำลังขับทั้งสิ้น 150 PS สูงสุดที่ 3,600 รอบต่อนาที และทำแรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร ตั้งแต่ 1,800 รอบต่อนาที
การปล่อยไอเสียในตอนนั้นผ่านเกณฑ์มาตรฐานไอเสียระดับยูโร 4 และทางซุบารุมีแผนในการพัฒนาให้ตอบได้ถึง Euro 5 และ Euro 6 ภายในปี 2015
ทางซูบารุแนะนำลงในรถ Subaru Outback และ Subaru Legacy เวอร์ชั่นยุโรปก่อน ใช้ชื่อรุ่นว่า 2.0 D หลังจากนั้นในงาน Paris Motor Show 2008 (ปีเดียวกัน) จึงแนะนำลงใน Subaru Forester และ Subaru Impreza รุ่นขายในยุโรป ได้รับการอัพเกรดติดตั้ง DPF (Diesel Particular Filter) รวมถึงชุดเกียร์ธรรมดา 6 สปีด รุ่นใหม่ รองรับแรงบิดมหาศาล ในตัวฟอร์เรสเตอร์ อัตราไอเสียต่ำเพียง 167 กรัม /กิโลเมตรเท่านั้น
ในปี 2013 เครื่องบ๊อกเซอร์ดีเซลดูเหมือนจะไม่ตาย ไปง่ายๆ ทางซูบารุมีแผนนำมันมาทำเป็นเครื่องยนต์ดีเซลไฮบริด โชว์ออกมาในต้นแบบ Subaru Viziv Concept มันติดตั้งมาพร้อมมอเตอร์ไฟฟ้า 3 ตัว มอเตอร์ตัวหน้าติดตั้งเข้ากับเครื่องยนต์ทำหน้าที่เป็นเจนเนอร์เรเตอร์ ปั้นไฟฟ้ากลับไปแบตเตอร์รี่ ลิเธียมไอออน

อีก 2 ตัวทางด้านหลัง ติดตั้งอิสระในแต่ะละล้อ เพื่อช่วยขับขี่ได้อย่างประสิทธิภาพ ความฝันดีเซลไฮบริดซูบารุยังไม่จบเพียงเท่านี้ พวกเขายังพร้อมแนะนำระบบ SI Drive โหมดขับขี่อันชาญฉลาดให้ความสปอร์ตไปพร้อมกัน
ความตั้งใจขายเครื่องยนต์ดีเซลของซูบารุมาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อกฎทางด้านไอเสียเริ่มเข้มงวดมากขึ้น ตามวิธีทดสอบใหม่ ที่เรียกว่า WLTP เริ่มบังคับใช้ในยุโรปในช่วงปี 2018 เดือนสิงหาคมปีนั้น ซูบารุ ประเทศอังกฤษ รวมถึงในหลายประเทศทางยุโรป ประกาศหยุดขายรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล

แต่ในบรรดาสาวกที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลค่ายดาวลูกไก่ เชื่อว่านั่นไม่น่าใช่ปัญหา เพราะซูบารุเองก็มีแผนในการพัฒนาเครื่องยนต์รุ่นนี้ให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ายูโร 6 ประเด็นที่น่าเป็นห่วง จากที่มีโอกาสไปดูข้อมูลตามบอร์ดผู้ใช้ Boxer Diesel ชี้ว่า เครื่องยนต์ดีเซลรุ่นแรก (ที่มากับ Forester SH) มีโอกาสที่ข้อเหวี่ยงจะไม่ได้ศูนย์ในระยะยาวด้วยเหตุผลบางประการ (รถเวอร์ชั่นหลังปี 2012 จะไม่มีปัญหาดังกล่าว)
ในระยะหลังปัญหาที่น่ากวนใจของเครื่องยนต์ดีเซลสมัยใหม่ อย่างการอุดตันของ DPF เริ่มกลายเป็นประเด็นปัญหา ต่อคนใช้งานรถในเมือง รวมถึงด้วยแรงบิดมหาศาลของมันในเกียระรรมดามีรายงานจากผู้ใช้ว่า คลัทช์หมดไวอาจจะด้วยในบางคน
อย่างไรก็ดี การตัดสินไม่ทำเครื่องยนต์ดีเซลต่อของซูบารุ อาจจะเป็นทางออกที่ถูกต้อง ค่ายรถยนต์เมืองกุนมะ อาจมองไปไกลกว่าว่า ถึงจะทำดีเซลให้ดีสักแค่ไหน ก็อาจจะได้ใจเพียงลูกค้าชอบความแรง ไม่ได้ความตั้งใจในการลดปล่อยไอเสีย การเข้าไปร่วมมือกับ Toyota ทำให้ ซูบารุ ได้มีโอกาสรู้จักระบบไฮบริด และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในแบบที่พวกเขาต้องการ
ปัจจุบัน ซูบารุแนะนำ ระบบเครื่องยนต์ e-Boxer เข้ามาประจำการ ในรถยนต์ Subaru Forester , Subaru XV และวางขายในหลายตลาด และยังมีแผนในการพัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฮบริดเสียบปลั้ก แต่ก็นับว่าน่าเสียดายที่เครื่องยนต์ดีเซล ต้องหายไป
เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง
ข้อมูล จาก Subaru Global และ การรวบข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต